“เต้นประเพณี Kawliga”...การรับขวัญ.....และจิตวิญญาณแห่ง “อินเดียนแดง” (วนศาสตร์)

             แสงสว่างจากกองไฟที่ลุกโชติช่วงสาดไปทั่ว...ฉายภาพของนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวนศาสตร์กว่าสองร้อยสี่สิบเก้าชีวิต กำลังหมอบแนบชิดกับผืนทราย ในดวงตาสะท้อนกับเปลวเพลิงตรงหน้า พร้อมกับจังหวะดนตรีที่ดังขึ้นปลุกใจ.... Kawliga, was a wooden Indian standing by the door......” ทันทีที่เนื้อเพลงค่อย ๆ บรรเลง เหล่านิสิตต่างลุกขึ้นเต้นด้วยท่าทางที่แข็งแกร่ง เสียงตบเท้าที่ดังก้องและใบหน้าแห่งความแน่วแน่ สร้างความปลื้มปิติให้กับเหล่าฝูงชนที่เข้ามายืนรอชม และรอต้อนรับ “วนศาสตร์รุ่นที่ 80” ดาวเด่นในค่ำคืนสุดท้ายแห่งประเพณีการรับน้องตามครรลองของคณะวนศาสตร์...



          หลายคนได้ถามเข้ามาอย่างมีข้อสงสัยว่า “การเต้นประเพณี Kawliga ที่มีท่วงท่าในการเต้นรอบกองไฟคล้ายกับชนพื้นเมืองของอเมริกา หรือที่เราเรียกกันว่า “เผ่าอินเดียนแดง” นั้น สืบทอดมาจากเผ่าอะไร หรือ ได้รับอิทธิพลมาจากที่ไหนกัน? และเพราะอะไรถึงต้องเป็น “การเต้นประเพณี Kawliga ?

การเต้นรอบกองไฟอย่างชนเผ่าอินเดียแดงนี้เริ่มต้นขึ้นราว พ.ศ. 2497 (วน.20) ซึ่งในขณะนั้นมีการจัดกิจกรรมรับขวัญน้อง และแสดงความยินดีกันอย่าง “ชาวดง” หลังจากนั้นการเต้นรอบกองไฟก็ค่อยๆถูกพัฒนา ปรับเสริม ปรุงแต่งมาจนเป็น “การเต้นประเพณี Kawliga” รวมทั้งการจัดตกแต่งสถานที่ เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงรูปแบบของกิจกรรมให้มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมของชนเผ่าอินเดียนแดง เนื่องจากอินเดียนแดงมีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณและเหนือธรรมชาติ อินเดียนแดงเชื่อว่าโลกนี้มิใช่ของมนุษย์ มนุษย์ต่างหากที่เป็นสมบัติของโลก จำต้องปฏิบัติต่อทุกสิ่งในโลกอย่างให้เกียรติ เพราะถ้าไม่มีสัตว์และพืช เสียสละชีวิตให้รับประทานเป็นอาหารแล้ว เราก็ย่อมจะดำรงอยู่ไม่ได้ ผู้ใดทำลายธรรมชาติแล้วหายนะจะมาเยือนผู้นั้นในไม่ช้า


“ชาวอินเดียนแดงรักที่จะอยู่กับเสียงและกลิ่นของสายลม สายฝน และกลิ่นไอของป่าไม้ สายลมนั้นเป็นสิ่งที่ล้ำค่าของพวกเรา เพราะทุกชีวิตร่วมสัมผัสกระแสลมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ต้นไม้ หรือมนุษย์ทุกส่วนของแผ่นดินนี้ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ต่อชนเผ่าของเรา ใบสนทุกใบ หาดทรายทุกแห่ง ป่าไม้ ทุ่งโล่ง และแมลงเล็กๆทุกตัว คือความทรงจำ คือประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าพันธุ์เรา อดีตของชาวอินเดียนแดงนั้น ไหลซึมวนเวียนอยู่ในยางไม้ทั่วทั้งป่านี้ 
(สุนทรพจน์หัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงในรัฐวอชิงตัน ในปี ค.ศ. 1854)

ชนพื้นเมืองของอเมริกา หรือ ชนเผ่าอินเดียนแดง นั้นมีอยู่หลายเผ่าด้วยกัน สำหรับคณะวนศาสตร์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากชนเผ่าอินเดียนแดงที่มีชื่อว่า “เผ่าอาปาเช่” (Apache) อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นเผ่าที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาอินเดียนแดงทั้งหมด และเผ่าอาปาเช่ยังเป็นอินเดียนแดงเผ่าสุดท้าย ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนจากการยึดครองของชาวอเมริกัน

เผ่าอาปาเช่ แบ่งได้เป็น 6 เผ่าย่อยไปอีกได้แก่ บีดอนโคฮี, ชิอีอาเฮน, ชีเฮนนี (โอโจ คาบินเต้ หรือฮอทสปริงอาปาเช่), โชคอนเอน (ชิริคาฮัว อาปาเช่), เนนดิ และ ไวท์เมาเท่นอาปาเช่  ประชากรของอาปาเช่ (รวมทั้ง นาวาโฮ) มาจากทางตอนเหนือที่ห่างไกล และตั้งรกรากในที่ราบทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาประมาณ ค.ศ. 850 พวกเขาตั้งถิ่นฐานในแดนทะเลทรายคือ เกรท บาซิน, โซโนรัน และชิฮัวชวน    อาปาเช่ ให้ความเคารพต่อ โคโยต, แมลง และนก เช่นเดียวกับนมุษย์ มนุษย์ต่างดิ้นรน, ต่างเดินตามรอยของผู้ที่เดินมาก่อน อาปาเช่ อยู่กับกลุ่มครอบครัวที่ขยายออกไป ส่วนใหญ่จะเป็นญาติห่างๆกัน (ฝ่ายหญิงเป็นผู้นำครอบครัว) แต่ละกลุ่มปกครองตนเองโดยความเคารพต่อหัวหน้าครอบครัว ไม่ขัดแย้ง และไม่โต้เถียงผู้รอบรู้กว่า

ความกล้าหาญบ้าบิ่นของอาปาเช่ในการทำสงครามเป็นที่กล่าวถึงอย่างน่าพิศวง ว่ากันว่า นักรบอาปาเช่ สามารถวิ่งได้ถึง 50 ไมล์โดยไม่หยุด เคลื่อนไหวรวดเร็วว่องไวและเงียบเชียบยิ่งกว่าพวกพรานภูเขาเสียอีก ช่วงปลายๆ ค.ศ. 1800 นายพลแห่งกองทัพสหรัฐที่เคยต่อสู้กับอาปาเช่ ได้ให้นิยามถึงอาปาเช่ว่า “เสือในคราบมนุษย์”  อาปาเช่ ได้มีการสืบทอดเรื่องเล่าตำนานต่างๆของบรรพชนเสมอมา เพื่อให้รุ่นหลังได้จดจำและปฏิบัติตามความเชื่อในการอยู่อย่างเคารพต่อธรรมชาติและชีวิต หมอ ของชนเผ่า รับผิดชอบเรื่องการทำพิธีการที่เกี่ยวกับความเชื่อต่างๆ แม้แต่เรื่องเหนือธรรมชาติต่างๆที่อาปาเช่ไม่เคยละเลยและให้ความเคารพอย่างมาก อาทิ ยูเซน, ผู้ให้ชีวิต ที่เป็นผู้มีพลังสูงสุด

แกนส์ หรือ วิญญาณแห่งขุนเขา เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในพิธีกรรมของอาปาเช่ ผู้ชายจะแต่งกายประดับประดาและสมมติเป็น วิญญาณแห่งขุนเขาต่างๆ ในการเต้นรำบูชา มีการสวมชุดคล้ายกระโปรงสั้น ทาหน้าสีดำ ทำแผ่นไม้เล็กๆยาวๆ สวมหัว ทาสีตัว และถือดาบไม้ ทั้งนี้ชาวเผ่าอาปาเช่ ยังมีพิธีก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ที่ชื่อว่า "Sunrise Ceremony" เพื่อยอมรับความเป็นผู้ใหญ่ของเด็กในเผ่า โดยเด็กๆจะได้รับการทาตัวด้วยส่วนผสมของเกสรดอกไม้ แป้งข้าวโพด และสมุนไพรที่ผ่านพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มาแล้ว เพื่อชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ เป็นการให้พรทั้งเด็กเหล่านั้น ชนเผ่าของพวกเขา และโลกใบนี้ให้มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว

หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของเผ่าอาปาเช่ ที่ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักก็คือ การยืนหยัดต่อสู้กับการถูกล่าอาณานิคม และช่วงชิงดินแดนอันเป็นที่รัก “เจอโรนิโม” คือชื่อของหัวหน้าเผ่า อาปาเช่คนสุดท้ายที่เป็นผู้นำเหล่านักรบเข้าร่วมต่อสู้อย่างกล้าหาญ การต่อสู้ของเจอโรนิโมมีเป้าหมายเพียงเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตน เขามักเล่าว่า 


"ข้าเติบโตมาในดินแดนซึ่งอยู่บริเวณปากแม่น้ำกิลา บริเวณนั้นเป็นดินแดนของพ่อข้า มีทั้งทุ่งหญ้า ภูเขา หุบเขา และถ้ำหินสำหรับฝังศพของเรา แม่ข้าเล่าให้ข้าฟังเรื่องของผู้คนเผ่าเรา และยังสอนให้ข้ารู้จักดวงตะวัน ท้องฟ้า ดวงจันทร์ ดวงดาว เมฆ และพายุ แม่ยังสอนให้ข้าคุกเข่าและสวดขอพรให้มีสุขภาพดี เราไม่เคยสวดสาปแช่งใคร แต่หากเราเป็นศัตรูกับใครเราต้องแก้แค้นให้ตัวเอง และแม้แต่การฆ่าสัตว์เราจะฆ่าก็ต่อเมื่อเราต้องการมันเท่านั้น...เมื่อโอกาสอำนวยข้าก็คงสามารถเข้าสนามรบร่วมกับชนเผ่าของข้าได้ ถึงเมื่อตอนนั้นจักถือเป็นเกียรติยศอันใหญ่หลวง ข้าได้แต่หวังว่าในไม่ช้าข้าจะสามารถรับใช้ชนเผ่าของข้าในสนามรบได้ ข้าปรารถนาที่จะต่อสู้เคียงข้างนักรบของเรา"





          นายพลเนลสัน ไมลส์ (General Nelson Miles) แห่งกองทัพอเมริกัน ได้กักชาวอินเดียนไว้ในเขตสงวน จนเหลือเพียงแค่ 2 เผ่าคือนาวาโฮกับอาปาเช่ แต่ไม่นานกองทัพคนขาวและอาวุธอันทันสมัยได้ทำลายล้างชนเผ่านาวาโฮจนหมดสิ้น เหลือเพียงชนเผ่าอาปาเช่น นำโดยเจอโรนิโมซึ่งยังคงนำนักรบอาปาเช่ยืนหยัดต่อสู้กับคนขาวมาตลอด 30 ปี ในที่สุดกองทัพอเมริกันก็เพิ่มกำลังและอาวุธเข้าปราบปรามชาวอาปาเช่อย่างโหดเหี้ยม พ่อแม่พี่น้องชาวอาปาเช่นถูกสังหารจนแทบสูญเผ่าพันธุ์ และในที่สุดวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2429 เจอโรนิโม ก็ต้องยอมแพ้ที่สเกลเลทอน แคนยอน (Skeleton Canyon) ในรัฐอริโซนา เจอโรนิโมจึงจำใจต้องยอมเจรจาสงบศึกและตกเป็นนักโทษสงคราม ถูกขังอยู่ที่คุกฟอร์ท พิคเคนส์ รัฐฟลอริดา จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยวัณโรคในคุกเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452

           ด้วยความ “เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน และสามัคคี” ของชาวอินเดียนแดงที่ต้องการจะปกป้องแผ่นดินของตน สะท้อนให้เห็นทั้งความสำคัญของธรรมชาติ และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของคนในชนเผ่าเดียวกัน ไม่แปลกเลยที่คนต่างถิ่นที่มีความต้องการจะครอบครองแผ่นดินส่วนนั้น ต้องใช้เวลาหลายสิบปี ใช้ทั้งอาวุธและกลวิธีมากมาย เพื่อมาสยบคนพื้นเมืองธรรมดาๆที่มีเพียงแค่กำลังและความสามัคคี


นี่อาจจะเป็นแค่มุมมองเล็กๆจากการสืบค้นประวัติอันน่าสนใจของ “การเต้นประเพณี Kawliga” และ “จิตวิญญาณของชาวอินเดียนแดง” ว่าทำไมจึงต้องมีประเพณีเหล่านี้? หรือ ทำไมจึงต้องเป็นอินเดียนแดง? บทความนี้คงอธิบายให้เข้าใจได้เท่าที่ผู้เขียนสามารถบรรยายออกมาได้ แต่ความเป็นจริงและเนื้อแท้โดยในของมัน มีเพียงนิสิตวนศาสตร์ทุกคนที่ได้ผ่านพิธีกรรมเท่านั้นที่จะรู้!!

ความคิดเห็น